การค้า
เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทย และอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียนรองจากมาเลเซีย ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 การค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนามมีมูลค่า 17,571.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 5.82 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 6,659.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563
สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (3) เม็ดพลาสติก (4) เคมีภัณฑ์ (5) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (6) น้ำมันสำเร็จรูป (7) เครื่องดื่ม (8) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักร (9) ผลิตภัณฑ์ยาง และ (10) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
สินค้านำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ (1) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (2) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (3) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (4) น้ำมันดิบ (5) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (6) เคมีภัณฑ์ (7) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป (8) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (9) ผลิตภัณฑ์โลหะ และ (10) รองเท้า
การลงทุน
ไทยเป็นผู้ลงทุนต่างชาติอันดับ 9 ในเวียดนาม มีโครงการทั้งหมด 565 โครงการ มูลค่าการลงทุนสะสมถึงเดือนมกราคม 2563 รวม 10,072 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูป การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นักลงทุนรายใหญ่ของไทยในเวียดนาม อาทิ กลุ่มบริษัท ปตท. เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือ SCG กลุ่มอมตะ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ บริษัทบีทาเก้น บริษัทเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง บริษัทไทยนครพัฒนา บริษัททีโอเอ บริษัทไทยซัมมิท บริษัทสยามสตีล ธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารไทยพาณิชย์
การท่องเที่ยว
ปี 2562 มีชาวเวียดนามเดินทางมาประเทศไทย 1,047,629 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 เมื่อเทียบกับสถิติปี 2561 จำนวน 1,028,150 คน ขณะที่ชาวไทยเดินทางไปเวียดนาม 509,802 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.52 เมื่อเทียบกับสถิติปี 2561 จำนวน 349,310 คน
ความเชื่อมโยง
ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเส้นทางที่ให้ความสำคัญ อาทิ การเปิดให้บริการรถโดยสารประจำทางไทย – สปป. ลาว - เวียดนาม โดยเฉพาะเส้นทาง R12 นครพนม – คำม่วน – ห่าติงห์ (ซึ่งเป็นเส้นทางที่ต้องการผลักดันในระยะแรก) ในชั้นนี้ ทั้งสามฝ่ายอยู่ระหว่างการพิจารณา business model ที่เกี่ยวข้อง
การเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเลไทย – กัมพูชา – เวียดนาม (coastal shipping) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสามประเทศเห็นพ้องที่จะมีเส้นทางเดินเรือร่วมกัน (common routes) และแบ่งท่าเรือเป็น 2 ประเภทสำหรับ (1) การขนส่งสินค้า ได้แก่ ท่าเรือคลองใหญ่ – สีหนุวิลล์ – กัมปอต – ห่าเตียน – เกาะฟูก๊วก และ (2) การท่องเที่ยว ได้แก่ ท่าเรือคลองใหญ่ – เกาะกง – สีหนุวิลล์ – กัมปอต – แกบ – ห่าเตียน – เกาะฟูก๊วก ปัจจุบันทั้งสามฝ่ายยังอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับมาตรฐานเรือและความปลอดภัยต่าง ๆ
กรอบความร่วมมือที่สำคัญ
(1) การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) มีนายกรัฐมนตรีสองฝ่ายเป็นประธานร่วม
(2) การหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ (Foreign Ministers’ Retreat) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสองฝ่ายเป็นประธานร่วม
(3) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม (Joint Commission on Bilateral Cooperation: JCBC) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสองฝ่ายเป็นประธานร่วม
(4) การประชุม Political Consultation Group (PCG) โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม (เทียบเท่าปลัดฯ) เป็นประธานร่วม
(5) การประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Political and Security Cooperation: JWG on PSC) มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนามเป็นประธานร่วม
(6) การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเป็นประธานร่วม
ความร่วมมือระดับจังหวัด
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง (sister cities) กับเวียดนาม จำนวน 16 คู่ (12 จังหวัด) ทั้งนี้ คู่จังหวัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์มี 6 คู่ ได้แก่ (1) จังหวัดขอนแก่น – นครดานัง (2) จังหวัดตราด – จังหวัดเกียนซาง (3) จังหวัดอุดรธานี – จังหวัดท้ายเหวียน (4) จังหวัดอุบลราชธานี – จังหวัดกว๋างจิ (5) จังหวัดอุบลราชธานี - จังหวัดเถือเทียน เว้ และ (6) จังหวัดอุบลราชธานี - จังหวัดบิ่ญเฟื้อก